แผนที่แสดงลักษณะธรณีวิทยาทวีปเอเซีย
แหล่งที่มา: http://hvarn-world.blogspot.com/2010/03/2.html
เอเชีย : ทวีปที่ปรากฏลักษณะทางธรณีทุกรูปแบบ
ขนาดพื้นที่ที่กว้างใหญ่ของทวีปเอเชียทำให้ปรากฏลักษณะทางธรณีที่หลากหลาย อาจกล่าวได้ว่าครบทุกรูปแบบนั่นคือปรากฏหินตั้งแต่หินเก่ายุคก่อนแคมเบรียนจนถึงหินใหม่ยุคเทอร์เชียริและตะกอนยุคควอเทอร์นารีมีโครงสร้างของเปลือกโลกที่สลับซับซ้อนเป็นเทือกเขาสูงชัน ปรากฏรอยเลื่อนรอยคดโค้งที่เกิดจาการดันและการอัดตัวของเปลือกโลกมากมายมีการยกตัวของแผ่นดินเป็นที่ราบสูงและการทรุดตัวเป็นแอ่งแผ่นดิน ขณะที่บางส่วนเป็นที่ราบ ที่ลุ่มเป็นเขตสะสมตัวของตะกอนยุคใหม่ ความซับซ้อนทางธรณีของแผ่นดินเอเชียทำให้มีภูมิประเทศหลายรูปแบบ มีทรัพยากรแร่ธาตุที่หลายหลายมากมาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามมาก เช่น ภูเขาสูง ชายหาดต่าง ๆ เป็นต้น ลักษณะทางธรณีของทวีปเอเชียตามอายุทางธรณีพิจารณาจากแผนที่ได้ดังนี้
1) ธรณีหินเก่ายุคก่อนแคมเบรียน ปรากฏกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณคาบสมุทรอินเดีย คาบสมุทร
อินโดจีน ด้านตะวันออกประเทศจีนตอนเหนือ ประเทศมองโกเลีย คาบสมุทรเกาหลี คาบสมุทรอาหรับด้านตะวันตก และประเทศรัสเซียด้านตะวันออกเฉียงใต้
2) ธรณีหินฐานมหายุคพาลีโอโซอิก (แคมเบรียน ออร์โดวิเชีย ไซลูเรียน ดีโวเนียน คาร์บอนิเฟอรัส และเพอร์เมียน) ปรากฏกระจายอยู่ในหลายบริเวณที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มเกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มเกาะประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีนตอนกลางและด้านตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณจีนตอนเหนือติดต่อกับรัสเซียตอนใต้แถบเทือกเขาอัลไตและเทือกเขาเทียนซานและบริเวณแนวเทือกเขาอูราล
3) ธรณีหินฐานมหายุคมีโซโซอิก (ไทรแอสชิก จูแรสซิก และครีเทเชียส) ปรากฏอยู่ในเกาะบอร์เนียวด้านตะวันตก คาบสมุทรมลายู คาบสมุทรอินโดจีนตอนบน เป็นแนวแคบ ๆ ในตอนใต้มองโกเลีย รัสเซียตะวันออกเฉียงใต้ และรัสเซียตะวันออกเฉียงเหนือ
4) ธรณีหินฐานมหายุคซีโนโซอิก (เทอร์เชียรีและควอเทอร์นารี) ปรากฏแถบพม่าตะวันตก อินเดียตอนเหนือ อิหร่าน อิรัก ตุรกี และบริเวณคาบสมุทรคัมชัตกา
5) ธรณีหินตะกอนที่ปิดทับหินฐานมหายุคต่าง ๆ ปรากฏกระจายอยู่ทั่วไป บริเวณที่สำคัญได้แก่ บริเวณรัสเซียด้านตะวันออกและตอนกลาง บริเวณคาบสมุทรอาหรับ อินเดียตอนเหนือ ปากีสถาน คาบสมุทรอินโดจีนตอนล่าง เกาะบอร์เนียวตอนใต้ และเกาะนิวกินีตอนใต้
6) ธรณีหินภูเขาไฟมหายุคมีโซโซอิกถึงซีโนโซอิก ปรากฏอยู่ 3 บริเวณใหญ่ ๆ ได้แก่ บริเวณประเทศรัสเซียด้าน
ตะวันออกเฉียงเหนือ และชายฝั่งทะเลโอคอตสก์ บริเวณประเทศจีนแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกและบริเวณประเทศอินเดียด้าน
ตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะทางธรณีมีผลทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นดินภูเขาไฟ (อันดับดินแอนดิชอลส์) ที่มีความอุดมสมบูรณ์
สูงมาก
ทวีปเอเชีย : ทวีปที่ปรากฏภูมิอากาศหลายรูปแบบ
เอเชียเป็นทวีปที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด มีดินแดนตั้งแต่บริเวณเส้นศูนย์สูตรไปจนถึงบริเวณขั้วโลกเหนือ จึงทำให้ปรากฏลักษณะภูมิอากาศทุกรูปแบบแตกต่างกัน ความแตกต่างของลักษณะภูมิอากาศเอเชียมีตั้งแต่ร้อนแบบศูนย์สูตรถึงหนาวแบบขั้วโลกหรือฝนชุกแบบศูนย์สูตรจนถึงแห้งแล้งแบบทะเลทราย ซึ่งความแตกต่างของลักษณะภูมิอากาศขึ้นอยู่กับปัจจัย
ควบคุมภูมิอากาศ ดังนี้
- ตำแหน่งที่ตั้งและขนาด ทวีปเอเชียมีพื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ในซีกโลกเหนือ ตั้งแต่แถบศูนย์สูตร (ละติจูด 0 องศา) ไปจนถึงขั้วโลกเหนือจึงทำให้ปรากฏลักษณะภูมิอากาศทุกรูปแบบ การที่เป็นทวีปที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่มาก ซึ่งมีทั้งเส้นศูนย์สูตร (ละติจูด 0 องศา) เส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ (ละติจูด 23 องศาเหนือ) และเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล
(ละติจูด 66 องศาเหนือ) ลากผ่านที่ตั้งดังกล่าวทำให้ทวีปเอเชียปรากฏทั้งอากาศร้อน อบอุ่นและหนาว - ระยะใกล้-ไกลจากทะเล ของพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปเอเชียนั้นมีผลมาจากความกว้างใหญ่ของแผ่นดินเอเชียที่ต่อเนื่องกับยุโรป ซึ่งเรียกว่า “ยูเรเซีย” และเชื่อมต่อกับทวีปแอฟริกามีผลทำให้อิทธิพลจากทะเลเข้าไปถึงพื้นที่ภายในแผ่นดินได้น้อย จึงเกิดเขตแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ตอนในและทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างฤดูกาลที่รุนแรง ซึ่งช่วงฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด ขณะที่ช่วงฤดูหนาวอากาศจะหนาวจัด หรือแม้แต่ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนก็มีค่ามากด้วย ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลจะมีฝนตกชุก มีความแตกต่างของอุณหภูมิในรอบวันและระหว่างฤดูกาลไม่มากนัก
- ลักษณะภูมิประเทศ คือ พื้นที่อันกว้างใหญ่ของทวีปเอเชียมีความแตกต่างกันมากทำให้เกิดความแตกต่างของลักษณะ
ภูมิอากาศ เช่น ภูเขาสูงที่วางตัวขวางทิศทางลมประจำจะทำให้เกิดความแตกต่างของปริมาณน้ำฝนระหว่างเขตหน้าภูเขากับเขตหลังภูเขา หรือยอดเขาสูงกับที่ราบแม้จะอยู่ในละติจูดเดียวกันก็ตามอาจมีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก เนื่องจากระดับความสูงเพิ่มขึ้น อุณหภูมิจะลดลงนั่นเอง - กระแสน้ำ กระแสน้ำจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ กระแสน้ำอุ่น กับ กระแสน้ำเย็น ซึ่งกระแสน้ำอุ่นจะเคลื่อนที่จากเขตละติจูดต่ำใกล้ศูนย์สูตรไปสู่ละติจูดใกล้ขั้วโลก ทำให้ดินแดนที่กระแสน้ำอุ่นไหลผ่านมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนกระแสน้ำเย็นจะเคลื่อนตัวจากเขตละติจูดสูงใกล้ขั้วโลกไป สู่เขตละติจูดต่ำใกล้ศูนย์สูตร ทำให้ดินแดนที่กระแสน้ำเย็นไหลผ่านมีอุณหภูมิต่ำลง ซึ่งอิทธิพลของกระแสน้ำที่มีต่อลักษณะภูมิอากาศก็คือ ในเรื่องของอุณหภูมิและความชื้น ถ้าบริเวณที่กระแสน้ำอุ่นเคลื่อนที่ผ่านจะมีอุณหภูมิและความชื้นสูง ส่วนบริเวณที่มีกระแสน้ำเย็นเคลื่อนที่ผ่านจะมีอุณหภูมิต่ำลงและความชื้นต่ำลง เช่น กลุ่มเกาะประเทศญี่ปุ่นชายฝั่งตะวันตกจะมีกระแสน้ำเย็นโอยาชิโวเคลื่อนที่ผ่าน ส่วนชายฝั่งตะวันออกจะมีกระแสน้ำอุ่น
กุโรชิโวเคลื่อนที่ผ่าน ทำให้แถบชายฝั่งตะวันออกมีลักษณะอากาศอบอุ่นกว่าแม้จะอยู่ในละติจูดเดียวกันก็ตาม - ระบบลม ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของ 2 บริเวณ ทำให้เกิดความแตกต่างของความกดอากาศ ความแตกต่างของความกดอากาศนี้เองทำให้เกิดลม เช่น ลมค้า ลมมรสุม เป็นต้น ในทวีปเอเชียระบบลมที่มีอิทธิพลต่อลักษณะภูมิอากาศได้แก่
5.1 ลมประจำฤดูกาล ที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อลักษณะภูมิอากาศเอเชีย คือ ลมมรสุม ที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างพื้นทวีปเอเชียกับพื้นน้ำของมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เกิดความแตกต่างของความกดอากาศซึ่งความแตกต่างระหว่างความกดอากาศ ของแผ่นดินเอเชียกับพื้นน้ำมหาสมุทร ทำให้เกิดความเคลื่อนที่ของลมซึ่งก็คือลมมรสุมนั่นเอง
5.2 พายุหมุน มักจะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดูมรสุม โดยพายุหมุนที่มีความเร็วลมสูงสุดถ้าก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนที่ผ่านทะเลจีนใต้ เรียกว่า “พายุไต้ฝุ่น” แต่ถ้าก่อตัวในมหาสมุทรอินเดียแล้วเคลื่อนที่ผ่านอ่าวเบงกอล เรียกว่า “พายุไซโคลน”
จากปัจจัยควบคุมภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้ทวีปเอเชียปรากฏลักษณะภูมิอากาศที่แตกต่างกันมากและมีทุกรูปแบบ จากแผนที่จำแนกออกเป็นเขตต่าง ๆ ดังนี้
- ภูมิอากาศเขตร้อน-ชื้นตลอดปี พบอยู่บริเวณแถบศูนย์สูตรประมาณละติจูด 10 องศาเหนือถึง 10 องศาใต้ โดยเฉพาะในเขตกลุ่มเกาะและคาบสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเขตประเทศติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ภาคใต้ ของไทย และตอนใต้ของพม่า นอกจากนี้ยังพบอยู่ในเขตเอเชียใต้เป็นบริเวณแคบ ๆ ของคาบสมุทรเดคคานด้านตะวันตกและเกาะศรีลังกาตอนใต้ มีอากาศร้อนและฝนตกชุกตลอดปี คือ อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส และปริมาณฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตร ต่อปี ลักษณะภูมิอากาศทำให้พืชพรรณเป็นป่าดิบชื้น
- ภูมิอากาศเขตร้อน-ชื้นสลับแล้ง พบอยู่บริเวณคาบสมุทรอินโดจีน และคาบสมุทรเดคคาน ประเทศอินเดีย มีอากาศร้อน มีช่วงฝนตกสลับกับช่วงแห้งแล้งในรอบปี อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส และมีปริมาณฝนค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในเขตหน้าภูเขาด้านรับลม และจะน้อยลงด้านหลังภูเขา ภูมิอากาศเขตนี้จะได้รับอิทธิพลของลมมรสุม ลักษณะภูมิอากาศทำให้ปรากฏพืชพรรณเป็นป่าผลัดใบประเภทต่าง ๆ ในเขตฝนมากและมีบางบริเวณเป็นแบบทุ่งหญ้าสะวันนาในเขตฝนน้อย
- ภูมิอากาศกึ่งทะเลทราย-ร้อนแห้งแล้งและอบอุ่นแห้งแล้ง ปรากฏอยู่ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น เขตร้อน ได้แก่ บริเวณเขตอับฝนของคาบสมุทรเดคคานและคาบสมุทรอาหรับ เขตอบอุ่น ได้แก่ บริเวณที่ราบสูงอิหร่าน ตอนกลางของคาบสมุทรอนาโตเลียในประเทศตุรกี รัสเซียตอนใต้มองโกเลียบางส่วน และจีนด้านตะวันออก
เฉียงเหนือ ลักษณะภูมิอากาศจะมีความแตกต่างกันมากในระหว่างฤดูกาล ทำให้ปรากฏพืชพรรณธรรมชาติบางส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย หรือทุ่งหญ้าสเตปป์ส่วนใหญ่ใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ถ้าพื้นที่ใดมีการชลประทานดีพอก็จะเป็นเขตเพาะปลูก - ภูมิอากาศเขตทะเลทราย-แห้งแล้งจัดตลอดปี ปรากฏอยู่ในเขตทะเลทรายทุกแห่ง ทั้งทะเลทรายเขตร้อนและเขตอบอุ่น ลักษณะภูมิอากาศของเขตทะเลทรายจะมีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนมากรวมทั้งอุณหภูมิระหว่างฤดูหนาวกับฤดูร้อนก็แตกต่างกันมากด้วย ทะเลทรายของทวีปเอเชียส่วนใหญ่ อยู่บริเวณตอนในของแผ่นดิน หรืออยู่ด้านหลังเทือกเขาสูง ทำให้ความชื้นจากมหาสมุทรเข้าไปไม่ถึงจึงมีปริมาณฝนน้อยกว่า 250 มิลลิเมตรต่อปี ลักษณะภูมิอากาศทำให้พืชพรรณธรรมชาติส่วนใหญ่ เป็นทุ่งหญ้าสั้น ๆ ที่ทนต่อสภาพอากาศแล้ง และดินแห้งจัดได้ ขณะที่ตามโอเอซิส ซึ่งเป็นแอ่งน้ำในเขตทะเลทรายจะปรากฏพืชพรรณประเภท กระบองเพชร อินทผลัม และไม้พุ่มประเภทหนาม ซึ่งเปลี่ยนจากใบมาเป็นหนามเพื่อลดการสูญเสียน้ำจากปากใบเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติของพืช
- ภูมิอากาศเขตกึ่งร้อน-ฝนชุก ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ฤดูร้อนอบอุ่นถึงร้อน อยู่บริเวณกลุ่มเกาะประเทศญี่ปุ่นตอนใต้ คาบสมุทรเกาหลีในเขตประเทศเกาหลีใต้ ประเทศจีนด้านตะวันออกและด้านใต้ ประเทศเวียดนามตอนเหนือและปากีสถานด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นบริเวณที่อยู่ในเขตละติจูดประมาณ20-30 องศาเหนือ ทำให้จัดอยู่ในเขตกึ่งร้อน บริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทำให้มีฝนตกชุกในฤดูร้อนส่วนในฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด ลักษณะภูมิอากาศทำให้ปรากฏพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าเขตอบอุ่นประเภทป่าผลัดใบและบางส่วนเป็นทุ่งหญ้า
- ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนค่อนข้างชื้นในฤดูหนาว แล้งและอบอุ่นถึงร้อนในฤดูร้อน อยู่บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบชายฝั่งของประเทศตุรกี เกาะไซปรัส ประเทศเลบานอน ซีเรีย อิสราแอล และอิรักตอนเหนือ ลักษณะภูมิอากาศในช่วงฤดูร้อนอากาศจะร้อนและแล้ง ดินแห้ง ขณะที่ในช่วงฤดูหนาวจะมีฝนตกชุก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมตะวันตกที่พัดผ่าน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งนำเอาความชื้นมาตกเป็นฝน ลักษณะภูมิอากาศทำให้พืชพรรณธรรมชาติเป็นพุ่มไม้เตี้ย แทรกสลับด้วยไม้ต้นเตี้ยต่าง ๆ ขณะที่พืชเศรษฐกิจแถบนี้ ได้แก่ องุ่น ส้ม และมะละกอ
- ภูมิอากาศแบบอบอุ่น-ฝนตกมากไม่หนาวจัดในฤดูหนาวและอบอุ่นในฤดูร้อน มีอยู่ 2 บริเวณ ได้แก่ เทือกเขาสูงตอนกลางของเกาะบอร์เนียวและเทือกเขาสูงตอนกลางของเกาะนิวกินี ด้านตะวันตกเขตประเทศอินโดนีเซีย และบริเวณแคบ ๆ ด้านตะวันตกของเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ลักษณะอากาศจะมีฝนตกมาก เนื่องจากอยู่ในเขตฝนตกชุกโดยบริเวณกลุ่มเกาะของอินโดนีเซียอยู่ในเขตศูนย์สูตรขณะที่บริเวณอิสตันบูลอยู่ในเขตชายฝั่ง ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด ขณะที่ในฤดูร้อนอากาศจะอบอุ่นพืชพรรณธรรมชาติแถบกลุ่มเกาะอินโดนีเซียเป็นป่าไม้เขตร้อน ขณะที่แถบอิสตันบูล เป็นแบบไม้พุ่มเตี้ยและไม้ต้นเตี้ย
- ภูมิอากาศแบบภาคพื้นทวีป-ฝนตกมากในฤดูหนาว หนาวเย็นในฤดูหนาว อยู่ในบริเวณเกาะฮอนชูตอนเหนือ ในประเทศญี่ปุ่นคาบสมุทรเกาหลีตอนบน ประเทศจีนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และแนวแคบ ๆ ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปาร์มีนอต ลักษณะภูมิอากาศมีฝนตกมากเนื่องจากเป็นเขตรับลมของภูเขาสูงในช่วงฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่นเนื่องจากอยู่ในเขตละติจูดกลาง ขณะที่ฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด ลักษณะภูมิอากาศทำให้ปรากฏพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าผลัดใบเขตอบอุ่น
- ภูมิอากาศแบบภาคพื้นทวีป-ฝนตกมากเย็นในฤดูร้อน หนาวเย็นในฤดูหนาว ปรากฏบริเวณเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เกาะแซคาลินตอนใต้ประเทศรัสเซีย บริเวณเขตติดต่อจีนด้านตะวันออกเฉียงเหนือกับรัสเซียด้านตะวันออกเฉียงใต้ และบริเวณรัสเซียด้านตะวันตกเฉียงใต้ ถัดจากเขตกึ่งแห้งแล้งขึ้นมาทางเหนือ ลักษณะภูมิอากาศมีฝนตกมาก เนื่องจากได้รับความชื้นจากระบบลมประจำของโลกที่พัดผ่านทะเลนำเอาฝนมาตก ในฤดูร้อนมีอากาศเย็นเนื่องจากอยู่ในละติจูดสูง ขณะที่ในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นลักษณะภูมิอากาศทำให้พืชพรรณธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบเขตอบอุ่น และทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น
- ภูมิอากาศแบบกึ่งขั้วโลก-ฝนตกมาก ฤดูร้อนสั้น และหนาวจัดในฤดูหนาว ปรากฏอยู่ในเขตประเทศรัสเซียแถบตอนใต้ และตอนเหนือของเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล (ละติจูด 66 องศา 30 ลิปดาเหนือ) ลักษณะภูมิอากาศมีฝนมาก เนื่องจากได้รับความชื้นจากระบบลมประจำโลกที่พัดเอาความชื้นจากทะเลมาตกเป็นฝน ในฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัดและยาวนานฤดูร้อนมีช่วงเวลาสั้น ๆ บางครั้งมีน้ำค้างแข็งและหิมะตก ลักษณะภูมิอากาศทำให้พืชพรรณธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นป่าสน ซึ่งภาษารัสเซียเรียกว่า ไทกา (taiga) บางครั้งจึงเรียก “ภูมิอากาศแบบไทกา” ตามชื่อของป่าสน
- ภูมิอากาศแบบขั้วโลก-อากาศหนาวจัด ปรากฏอยู่ในเขตประเทศรัสเซียตอนเหนือกลุ่มเกาะในมหาสมุทรอาร์กติก ไปจนตลอดขั้วโลกเหนือและบริเวณหลังคาโลก ลักษณะภูมิอากาศมีอากาศหนาวจัดยาวนานมากมีหิมะปกคลุมตลอดปีทำให้ปรากฏพืชพรรณธรรมชาติเป็นมอสไลเคน ตะไคร่น้ำ ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าเขตหนาวเรียกว่า
ทุนดรา (tundra) บางครั้งจึงเรียกภูมิอากาศเขตนี้ว่า “ภูมิอากาศแบบทุนดรา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น