วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

เศรษฐกิจ

7. ข้าวโพด เป็นพืชที่ปรากฏอยู่มากในเขตร้อนจนถึงอบอุ่น เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องการปริมาณน้ำค่อนข้างมากในช่วงที่กำลังเจริญเติบโต และเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดในการสังเคราะห์แสงค่อนข้างมาก จึงปรากฏกระจายอยู่ทั่วไปในเขตร้อนถึงอบอุ่นของทวีเอเชีย ข้าวโพดส่วนใหญ่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ แต่มีบางพันธุ์ที่ใช้บริโภคได้


ไร่ข้าวโพด

แหล่งที่มา: http://youdo999.blogspot.com/2008/10/blog-post_5734.html
  8. ชา เป็นพืชที่ชอบอากาศที่มีความชื้นสูงแต่ดินมีการระบายน้ำดี ไม่แช่ขัง เหมาะกับพื้นที่ลาดเขาของเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในทวีปเอเชียปรากฏอยู่มากในจีน อินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศ เป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องดื่มและใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารหลายอย่าง
  9. อ้อย เป็นพืชที่ชอบอากาศค่อนข้างชื้นดินมีธาตุที่เป็นด่างสูง มีความชื้นในดินค่อนข้างมากแต่น้ำไม่แช่ขัง จึงปรากฏในที่ดอนของเขตร้อนและเขตอบอุ่น ดั้งเดิมเป็นพืชท้องถิ่นของภูมิภาคเอเชียใต้ในทวีปเอเชียมีการปลูกอ้อยมากในบริเวณตอนเหนือของอินเดีย และจีนด้านตะวันออก เป็นพืชที่ให้น้ำตาล
  10. ถั่วเหลืองและถั่วลิสง เป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในเขตร้อนและอบอุ่นที่มีปริมาณฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ในทวีปเอเชียปรากฏอยู่มากในเขตที่ราบจีนด้านตะวันออก และคาบสมุทรเดคคานตอนล่างในประเทศอินเดีย ถั่วเหลือง และถั่วลิสงเป็นพืชนำเมล็ดมาสกัดเอาน้ำมันซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารและเนยเทียมโดยเฉพาะถั่วเหลืองมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของมนุษย์
  11. กาแฟ เป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์คือ มีธาตุอาหารที่เป็นด่าง และมีอินทรียวัตถุในดินค่อนข้างมาก และชอบการระบายน้ำดีโดยในช่วงที่ออกผลจะต้องการน้ำมาก และจะน้อยลงเมื่อผลเริ่มสุก ดั้งเดิมเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศเอธิโอเปีย ในทวีปเอเชียปรากฏอยู่มากในเขตดินภูเขาไฟ ซึ่งมีฝนชุกของเกาะสุมาตราและเกาะชวาของอินโดนีเซีย กาแฟเป็นพืชที่นำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มเช่นเดียวกับชา
  12. ยาสูบ เป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความชื้นในดินค่อนข้างมาก แต่น้ำไม่แช่ขัง และมีอากาศร้อนถึงอบอุ่น จึงปรากฏอยู่มากในเขตฝนชุกของเอเชีย ที่สำคัญ ได้แก่ เขตรับลมของคาบสมุทรเดคคาน และเขตรับลมของเทือกเขาหิมาลัยในเอเชียใต้ เขตฝนชุกของพม่า เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ ที่ราบจีนด้านตะวันออก และกลุ่มเกาะประเทศญี่ปุ่น ยาสูบเป็นพืชที่นำใบมาทำบุหรี่ และผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่จัดอยู่ในกลุ่มของบุหรี่
  13. องุ่น เป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในลักษณะอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ในทวีปเอเชียจึงปรากฏอยู่มากในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่มีลักษณะอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน องุ่นเป็นผลไม้ที่ใช้ประโยชน์เด่นชัดที่สุด คือ ใช้ในการทำไวน์
  14. ยางพารา เป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในเขตฝนชุกเกือบตลอดปีที่มีความชื้นในอากาศสูง มีน้ำในดินค่อนข้างมากแต่ไม่แช่ขัง และมีอากาศร้อน แสงแดดจัดและยาวนาน ขึ้นได้ดีในลักษณะอากาศแบบศูนย์สูตรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทวีปเอเชียซึ่งปรากฏยางพาราอยู่มากในกลุ่มเกาะของอินโดนีเซียคาบสมุทรมลายูในเขตประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของประเทศไทย และปรากฏอยู่บ้างในเกาะศรีลังกา

         ในทวีปเอเชียโดยภาพรวมยังประสบปัญหาในเรื่องของการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่หลายประการทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขทางธรรมชาติ ได้แก่
  1. ลักษณะภูมิประเทศที่มีพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเหมาะสมต่อการเพาะปลูกไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดและยังเป็นที่ราบลุ่ม 2 ฝั่งแม่น้ำสายใหญ่ที่มักจะเกิดภาวะน้ำท่วมในช่วงน้ำหลากทำให้พืชที่ปลูกเสียหาย
  2. ลักษณะภูมิอากาศโดยเฉพาะปริมาณฝน แม้จะมีปริมาณสูงในเขตกลุ่มเกาะและชายฝั่งทะเลแต่บางครั้งก็มีมากเกินไปไม่เหมาะสมกับพืชที่ปลูกขณะที่ในเขตมรสุมและเขตตอนในแผ่นดินซึ่งปริมาณฝนจะน้อยลงเรื่อย ๆ นั้นมักจะพบว่าปริมาณฝนที่ใช้ในการเพาะปลุกบางครั้งไม่เพียงพอหรือบางครั้งตกผิดเวลา เช่น ช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอออกรวง ปรากฏว่าฝนทิ้งช่วงแต่พอข้าวเริ่มแก่ใกล้จะเก็บเกี่ยวกลับมีฝนตกหนักทำให้ข้าวที่ปลุกเสียหาย เป็นต้น ซึ่งภาวะที่ฝนตกไม่แน่นอน ทิ้งช่วงปริมาณไม่สม่ำเสมอ เรียกว่า “ฝนแปรปรวน” ที่ต้องเน้นถึงปริมาณฝนเนื่องจากการเพาะปลูกส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียอยู่นอกเขตชลประทานซึ่งต้องอาศัยน้ำจากฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก
  3. ลักษณะทางดิน โดยรวมแล้ว จะปรากฏปัญหามากในเขตละติจูดต่ำที่มีฝนชุกทำให้มีการชะล้างธาตุอาหารออกไปจากชั้นดินค่อนข้างรุนแรง ทำให้ดินมักจะขาดความอุดมสมบูรณ์แม้จะมีการแก้ไขโดยการใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร วิธีการนี้แม้จะได้ผลแต่ทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกสูงขึ้นตามมาด้วย
            ขณะที่ปัญหาการเพาะปลูกที่มาจากเกษตรกร ได้แก่ การขาดเทคโนโลยีในการเพาะปลุก การวางแผนเพาะปลูก การจัดการปัจจัยการเพาะปลูกเกี่ยวกับดิน น้ำ และเมล็ดพันธุ์ และที่สำคัญ คือวิธีคิดหรือทัศนคติในการปลูกพืชซึ่งยึดเป็นอาชีพหลัก แต่มีความพอใจเพียงแค่เพื่อยังชีพ ยังขาดวิธีคิดที่จะปลุกพืชเพื่อการค้าเหมือนกับในทวีปเอมริกาเหนือ ทวีปยุโรปหรือในออสเตรเลีย
  1.2 การเลี้ยงสัตว์ 

        ในทวีปเอเชียมีกิจกรรมการเกษตรในเรื่องการเลี้ยงสัตว์อยู่ 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่    

   1) การเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน
 เป็นการเลี้ยงสัตว์ที่เคลื่อนย้ายฝูงสัตว์ไปเรื่อย ๆ เพื่อหาแหล่งหญ้าและแหล่งน้ำแห่งใหม่ซึ่งคนที่เลี้ยงจะมีการเคลื่อนย้ายตามไปด้วย โดยมีการสร้างที่พักแบบชั่วคราวที่สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ซึ่งการเลี้ยงสัตว์แบบเร่รอนนี้จะปรากฏในเขตอากาศแห้งแล้ง อบอุ่นถึงหนาวเย็นของภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียเหนือ (รัสเซีย) ส่วนเอเชีย และเอเชียตะวันออกบางส่วน คือ จีนด้านตะวันตก และมองโกเลีย สัตว์เลี้ยง ที่สำคัญ ได้แก่ แกะ แพะ จามรี โค ม้า และอูฐ 
    
   2) การเลี้ยงสัตว์แบบปศุสัตว์ 
เป็นการเลี้ยงสัตว์ที่อยู่กับที่ คือ ทำเป็นฟาร์มเลี้ยง มีโรงเรือน มีแหล่งหญ้า แหล่งน้ำอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งมักจะเป็นการเลี้ยงเพื่อการค้า ในทวีปเอเชียปรากฎอยู่หนาแน่นในภูมิภาคเอเชียกลาง นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่เป็นบริเวณแคบ ๆ ในเขตเมดิเตอร์เรเนียน สัตว์เลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม แกะ แพะ และม้า



การเลี้ยงสัตว์แบบปศุสัตว์

แหล่งที่มา: http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=1990&s=tblblog
สัตว์เลี้ยงที่สำคัญของทวีปเอเชียจำแนกตามชนิด ดังนี้
  • โค เป็นสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ในการเป็นแรงงานด้านการเกษตร รวมทั้งเป็นพาหนะในการเดินทางในสังคมชนบท และใช้บริโภคเป็นอาหารทั้งเนื้อและนม ธรรมชาติของโคชอบอยู่ในภูมิประเทศที่ดอน มีอากาศค่อนข้างแล้ง และดินค่อนข้างแห้งมีแหล่งน้ำและแหล่งหญ้าที่เพียงพอ ในทวีปเอเชียจึงปรากฏโคกระจายอยู่ในเขตที่ดอน อากาศค่อนข้างอบอุ่นปริมาณฝนไม่สูง มีช่วงชื้นสลับแล้ง ได้แก่ จีนด้านคาบสมุทรเดคคานด้านตะวันออกในประเทศอินเดียและในตุรกีด้าน
    ตะวันออก โคที่เกษตรกรเลี้ยงมีอยู่ 2 ชนิด คือ โคเนื้อซึ่งใช้เนื้อบริโภค และโคนมที่ใช้นมบริโภค


                             แหล่งที่มา: http://www.doae.go.th/library/html/detail/cow2/scow42.htm
  • แกะ เป็นสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน นั่นคือเนื้อใช้บริโภค นมใช้ดื่ม หนังใช้ทำเครื่องประดับ เครื่องใช้ และขนใช้ทำเนื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม โดยธรรมชาติแกะชอบอยู่ในเขตอากาศอบอุ่นถึงหนาวเย็น รวมทั้งอากาศแล้งและดินแห้งมากได้ แต่ต้องมีแหล่งหญ้าและแหล่งน้ำอยู่บ้าง ในทวีปเอเชียการเลี้ยงแกะส่วนใหญ่ปรากฏในรูปแบบการเลี้ยงแบบเร่รอน ในเขตภาคพื้นที่มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ที่สำคัญได้แก่ บริเวณประเทศมองโกเลีย รัสเซียตอนใต้ คาซัคสถานตอนเหนือ อิหร่านเขตติดต่อกับอิรัก เยเมนด้านตะวันตก และในอาร์เมเนียขณะที่มีบางแห่งเลี้ยงแบบปศุสัตว์ ที่สำคัญได้แก่ ในคาซัคสถานด้านตะวันออกเฉียงใต้ 
   2. เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม

       1. อุตสาหกรรมในครัวเรือน เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก เครื่องจักรและอุปกรณ์ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนทางเทคโนโลยีมากนัก ส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น การทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย งานปั้น งานแกะสลัก งานทำเครื่องโลหะ งานจักสาน ทอพรม เจียระไน เครื่องประดับ การถนอมอาหาร แปรรูปอาหารแบบง่าย ๆ ทำของที่ระลึกขายให้นักท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมในครัวเรือนมีกระจายอยู่โดยทั่วไปในประเทศต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย



งานหัตถกรรมในประเทศจีน

แหล่งที่มา: http://thai.cri.cn/381/2009/11/30/21s164431.htm


       2. อุตสาหกรรมขนาดเล็ก เป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตวัตถุสำเร็จรูปในโรงงานขนาดเล็ก ใช้แรงงานคนไม่มาก ใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยี และใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง อุตสาหกรรมโรงงานอาหารสัตว์ โรงงานผลไม้กระป๋อง โรงงานน้ำตาล เป็นต้น ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

       3. อุตสาหกรรมโรงงานขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตวัตถุสำเร็จรูปในโรงงานขนาดใหญ่ ใช้แรงงานเครื่องจักรเป็นหลัก มีเงินลงทุนมาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า กลั่นน้ำมัน ต่อเรือ รถยนต์ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในทวีปเอเชียประเทศญี่ปุ่นปรากฏอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หนาแน่นมาก ประเทศอื่น ๆ มีไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อิสราเอล 
อาซัคสถาน จอร์เจีย อาร์เมเนีย รวมทั้งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น